การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006  กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายนัทกลับบ้านมากลางดึก  ได้ทราบข่าวจากนางจอยที่เป็นภริยาว่า  โดเรม่อนน้องหมาที่เลี้ยงไว้มากัด  ด.ญ.ส้มจี๊ดที่เป็นลูกสาวได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา  นายนัทโมโหมากตั้งใจว่าจะไม่อยู่ร่วมโลกกับโดเรม่อนอีกต่อไป   จึงนั่งรอโดเรม่อนกลับเข้ามาในบ้าน  เพราะโดเรม่อนได้หนีออกจากบ้านไปหลังจากกัด  ด.ญ.ส้มจี๊ด

ผ่านไปครู่ใหญ่  มีน้องหมาตัวหนึ่งลอดประตูรั้วบ้านเข้ามาคุ้ยเขี่ยกองขยะในถังขยะหน้าบ้านกินด้วยความหิวโหย

ในเวลานั้นเอง  นายนัทเดินไปที่รถเพื่อหยิบไม้กอล์ฟจากรถออกมาตีที่หัวน้องหมาตัวนั้นจนน้องหมาตายคาที่  ปรากฏว่า  น้องหมาตัวนั้นไม่ใช่โดเรม่อนของนายนัท  แต่เป็นน้องหมาโนปิตะของนายบอลที่เป็นเพื่อนบ้าน  โนปิตะมีสีและรูปร่างใกล้เคียงกับโดเรม่อนมาก 

ให้นักศึกษาวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายนัท  พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบการวินิจฉัย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  62  วรรคสอง  ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

การกระทำโดยเจตนา  ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้  คือจะถือว่าผู้กระทำได้กระทำโดยเจตนาไม่ได้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายนัทได้ใช้ไม้กอล์ฟตีน้องหมา  คือโนปิตะตายนั้นเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  จึงถือว่าเป็นการกระทำทางอาญาแล้ว  แต่การกระทำดังกล่าวของนายนัทจะถือว่า  เป็นการกระทำโดยเจตนาหาได้ไม่  เพราะนายนัทได้กระทำโดยมิรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  59  วรรคสาม  คือไม่รู้ว่าน้องหมาที่ตนใช้ไม้กอล์ฟตีจนตายนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น  ไม่ใช่โดเรม่อนสุนัขของตนเอง  ดังนั้นนายนัทจึงไม่มีความรับผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์  

องค์ประกอบของความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  358  คือ

1       ทำให้เสียหาย  ทำลาย  ทำให้เสื่อมค่า  หรือทำให้ไร้ประโยชน์

2       ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

และแม้ว่าการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดนั้น  ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของนายนัท  เนื่องจากนายนัทได้ตีโนปิตะซึ่งเป็นสุนัขของนายบอลตายนั้น  ได้กระทำโดยไม่ดูให้ดีว่าไม่ใช่โดเรม่อนสุนัขของตน  แต่นายนัทก็ไม่ต้องรับผิดฐานประมาททำให้เสียทรัพย์  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำโดยประมาททำให้เสียทรัพย์นั้นเป็นความผิดแต่อย่างใด  ตามมาตรา  59  วรรคสี่  ประกอบกับมาตรา  62  วรรคสอง  ดังนั้นนายนัทจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป  นายนัทไม่มีความรับผิดทางอาญา 

 

ข้อ  2  แจ็คต้องการฆ่าแคนดี้  เพราะแคนดี้เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่สำคัญของแจ็ค  วันหนึ่งแจ็คเห็นน้ำตาลเดินมาเข้าใจว่าเป็นแคนดี้  จึงใช้ปืนขนาด  .38  มม.  ที่พกอยู่เป็นอาวุธเล็งปืนไปที่น้ำตาล  น้ำตาลตาไวเห็นทันพอดี  จึงตีลังกาหลบแจ็ค  ทำให้กระสุนไม่ถูกน้ำตาลเลย แต่กระสุนกลับเลยไปถูกขวัญได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย  ทำให้น้องหมาของแป๋มที่ขวัญอุ้มอยู่ตกลงไปในท่อจนตาย 

จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของแจ็คต่อผู้เสียหายทุกราย  พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่แจ็คต้องการฆ่าแคนดี้  เมื่อเห็นน้ำตาลเดินมาเข้าใจว่าเป็นแคนดี้  จึงใช้ปืนเล็งและยิงไปที่น้ำตาลโดยสำคัญผิดนั้น  การกระทำของแจ็คเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  แต่เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกน้ำตาล  จึงเป็นกรณีที่แจ็คได้ลงมือกระทำความผิดซึ่งได้กระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  คือน้ำตาลไม่ตายตามที่แจ็คต้องการ  แจ็งจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าน้ำตาล โดยสำคัญผิดในตัวบุคคล  ตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสอง  มาตรา  61  และมาตรา  80  วรรคแรก  แจ็คจะอ้างว่าได้กระทำเพราะเหตุสำคัญผิดว่า  น้ำตาลเป็นแคนดี้  เป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

การที่กระสุนปืนไม่ถูกน้ำตาล  แต่เลยไปถูกขวัญได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยนั้น  เป็นกรณีที่แจ็คได้กระทำโดยเจตนาต่อน้ำตาล  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ขวัญโดยพลาดไป  ให้ถือว่าแจ็คได้กระทำโดยเจตนาต่อขวัญ  บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำด้วย  ตามมาตรา  60  และเมื่อขวัญไม่ตายเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ  ดังนั้นแจ็คจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าขวัญโดยพลาดไป  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  60  และมาตรา  80  วรรคแรก

ส่วนการที่กระสุนปืนไปถูกขวัญทำให้น้องหมาของแป๋ม  ที่ขวัญอุ้มอยู่ตกลงไปในท่อจนตายนั้น  แจ็คไม่ต้องรับผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  เพราะมิใช่การกระทำโดยพลาดตามมาตรา  60  ทั้งนี้เพราะผลร้ายที่เกิดขึ้นโดยพลาดไม่ได้เป็นผลประเภทเดียวกับที่เจตนากระทำ  กล่าวคือเมื่อเป็นการกระทำโดยเจตนาต่อบุคคล  แต่ผลร้ายเกิดขึ้นกับทรัพย์  จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่าพลาด  แต่อย่างไรก็ดี  การกระทำของแจ็คเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่  จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  แต่แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท  แจ็คก็ไม่มีความผิด  เพราะการทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทนั้น  ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดแต่อย่างใด

สรุป  แจ็คต้องรับผิดทางอาญา  ฐานพยายามฆ่าน้ำตาล

แจ็คต้องรับผิดทางอาญา  ฐานพยายามฆ่าขวัญ

แจ็คไม่ต้องรับผิดทางอาญา  ฐานทำให้เสียทรัพย์ของแป๋ม

 

ข้อ  3  นายอ่อนคนไทยทำงานอยู่ในเรือเดินทะเลของประเทศสิงคโปร์  ขณะเรือลำดังกล่าวแล่นอยู่ในเขตทะเลหลวง  นายอ่อนได้ใช้มีดแทงนายหม่องชาวพม่าตาย  เมื่อเรือลำดังกล่าวเข้าเทียบท่าที่ประเทศมาเลเซีย  นายอ่อนได้แอบหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย  ดังนี้  จะดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศไทยได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  7  ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร  คือ

(1) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  107  ถึงมาตรา  129

(1/1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  135/1  มาตรา  135/2  มาตรา  135/3  และมาตรา  135/4

(2) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  240  ถึงมาตรา  249  มาตรา  254  มาตรา  256  มาตรา  257  และมาตรา  266(3) และ (4)

(2 ทวิ)  ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  282  และมาตรา  283

(3) ความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  339  และความผิดฐานปล้นทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  340  ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ

(4)  ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290

วินิจฉัย

โดยหลัก  กฎหมายอาญาย่อมใช้บังคับแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร  แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  7  และมาตรา  8  ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า  แม้การกระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร  แต่ผู้กระทำความผิดอาจต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักร

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายอ่อนคนไทยได้ใช้มีดแทงนายหม่องชาวพม่าตายในเรือเดินทะเลของประเทศสิงคโปร์  ขณะแล่นอยู่ในเขตทะเลหลวงนั้น  เมื่อนายอ่อนแอบหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยจะดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศไทยได้หรือไม่  กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  การกระทำความผิดของนายอ่อน  เป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และเมื่อความผิดนั้นมิใช่ความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา  7(1) (2)  และแม้จะเป็นการกระทำความผิดซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง  แต่ก็มิใช่ความผิดฐานชิงทรัพย์  หรือความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา  7(3)  ดังนั้นจึงดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศไทย  ตามมาตรา  7  ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อความผิดที่นายอ่อนได้กระทำเป็นความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  และผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย  ดังนั้นแม้จะได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  ถ้าผู้เสียหาย  (ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  หรือภริยาของนายหม่อง)  ได้ร้องขอให้ลงโทษ  ก็สามารถที่จะดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศได้ตามมาตรา  8(ก) (4)

สรุป  สามารถดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศไทยได้  ถ้าผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตามมาตรา  8(ก)  (4)

 

ข้อ  4  นายเอกต้องการฆ่านายหนึ่ง  นายเอกหลอกนายหาญว่านายหนึ่งจะมาฆ่านายหาญ  ซึ่งไม่เป็นความจริง  เพื่อให้นายหาญไปฆ่านายหนึ่ง  นายหาญหลงเชื่อนายเอกจึงตกลงใจว่าจะฆ่านายหนึ่งก่อน  นายหาญได้จ้างนายยอดไปฆ่านายหนึ่ง  นายยอดตามหาตัวนายหนึ่งอยู่  นายเก่งต้องการให้นายหนึ่งตายจึงจ้างนายจ้อยให้ไปบอกที่ซ่อนของนายหนึ่งให้นายยอดทราบ  เมื่อนายจ้อยบอกนายยอด  นายยอดตามหาตัวนายหนึ่งพบและใช้ปืนยิงนายหนึ่งตาย 

ดังนี้  นายยอด  นายเอก  นายหาญ  นายเก่ง  และนายจ้อย  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายยอด  นายเอก  นายหาญ  นายเก่ง  และนายจ้อย  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายยอด

การที่นายยอดใช้ปืนยิงนายหนึ่งตาย  ถือว่านายยอดได้กระทำต่อนายหนึ่งโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  ดังนั้นนายยอดจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

กรณีของนายหาญ

การที่นายหาญได้จ้างนายยอดให้ไปฆ่านายหนึ่ง  ถือว่าเป็นการ  “ก่อ”  ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการจ้างแล้ว  ดังนั้นนายหาญจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลง  คือนายยอดได้ฆ่านายหนึ่งตาย  นายหาญผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

กรณีของนายเอก

การที่นายเอกต้องการฆ่านายหนึ่ง  และได้หลอกนายหาญว่านายหนึ่งจะมาฆ่านายหาญ  ซึ่งไม่เป็นความจริง  เพื่อให้นายหาญไปฆ่านายหนึ่ง  ทำให้นายหาญหลงเชื่อจึงตกลงใจจะฆ่านายหนึ่งก่อน  โดยการจ้างให้นายยอดไปฆ่านายหนึ่งนั้น  การกระทำของนายเอกถือว่าเป็นการ  “ก่อ”  ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยวิธีอื่นใด  ตามนัยของมาตรา  84  วรรคแรกแล้ว  เพราะการใช้หรือการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดนั้น  อาจจะเป็นการใช้กันเป็นทอดๆก็ได้  ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลง  คือนายยอดได้ฆ่านายหนึ่งตาย  นายเอกผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

กรณีของนายจ้อย

การที่นายจ้อยได้บอกที่ซ่อนตัวของนายหนึ่งแก่นายยอด  ทำให้นายยอดหาตัวนายหนึ่งพบ  และใช้ปืนยิงนายหนึ่งตายนั้น  การกระทำของนายจ้อยถือว่า  เป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิดแล้ว  ดังนั้น  เมื่อนายยอดฆ่านายหนึ่งตาย  นายจ้อยจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

กรณีของนายเก่ง

การที่นายเก่งต้องการให้นายหนึ่งตาย  จึงจ้างนายจ้อยให้ไปบอกที่ซ่อนของนายหนึ่ง  ให้นายยอดทราบนั้น  การกระทำของนายเก่งเป็นการใช้ผู้สนับสนุนคือนายจ้อย  ซึ่งโดยนัยของมาตรา  86  ก็ต้องถือว่าการกระทำของนายเก่งเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่นายยอดได้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน  ดังนั้นนายเก่งจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป

นายยอดต้องรับผิดทางอาญา  ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

นายเอกและนายหาญต้องรับผิดทางอาญา  ฐานเป็นผู้ใช้และต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84

นายเก่งและนายจ้อยต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

Advertisement