การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1 

(ก)   การเลือกตั้งมิใช่สัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตย  แต่เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น  และการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยก็มีอยู่หลายแบบแล้วแต่ว่าประเทศใดจะนำแบบใดไปใช้

การเลือกตั้งแบบสองรอบเสียงข้างมากก็เป็นวิธีการเลือกตั้งแบบหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในประเทศต่างๆ  ให้นักศึกษาอธิบายว่าการเลือกตั้งแบบสองรอบเสียงข้างมากเป็นอย่างไร  มีวิธีการเลือกตั้งอย่างไร

(ข)  ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา  และขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ  และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีการแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา  นักศึกษาจงอธิบายวิวัฒนาการที่มาของวุฒิสภาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกถึงปัจจุบันว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างไร

ธงคำตอบ

(ก)   การเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก  คือวิธีการเลือกตั้งซึ่งในการเลือกตั้งในรอบที่หนึ่งนั้น  หากมีผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งโดยมีคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเกินกว่ากึ่งหนึ่ง  (50% + 1)  ของผู้ที่มาใช้สิทธิลงคะแนน  ผู้สมัครคนนั้นก็จะได้รับเลือกตั้งเลย

แต่ถ้าในการเลือกตั้งในรอบแรกไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน  ก็จะต้องมีการเลือกตั้งในรอบที่สอง  โดยในการเลือกตั้งในรอบที่สองจะมีผู้สมัครเหลือเพียงสองคน  คือ  คนที่ได้รับคะแนนสูงสุดคนแรกจากการเลือกตั้งในรอบที่หนึ่งเท่านั้น  ส่วนคนอื่นๆจะไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในรอบที่สอง  ซึ่งในการเลือกตั้งในรอบที่สองนี้ผู้สมัครคนใดได้รับเลือกตั้งโดยมีคะแนนเสียงข้างมากของผู้ที่มาใช้สิทธิลงคะแนน  ผู้สมัครคนนั้นก็จะเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง

(ข)  วิวัฒนาการที่มาของวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  1  รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2475  ได้กำหนดให้มีสภาเดียว  คือ  สภาผู้แทนราษฎร  ยังไม่มีวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  2  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2475  ได้กำหนดให้มีสภาเดียวเช่นเดิม  คือ  สภาผู้แทนราษฎร  แต่ให้มีสมาชิก  2  ประเภท  โดยสมาชิกประเภทที่  2  มาจากการแต่งตั้ง  (ยังไม่เรียกว่าวุฒิสภา)

รัฐธรรมนูญฉบับที่  3  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2489  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  คือ  สภาผู้แทนราษฎรและพฤฒสภา  (ซึ่งปัจจุบันคือวุฒิสภา)  ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม  ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย  ในระบบรัฐสภาที่กำหนดให้มีวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  4  รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2490  ได้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ  2  สภา  คือ  วุฒิสภากับสภาผู้แทนฯ  ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่  5  รัฐธรรมนูญฯ  พ.ศ.2492  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่  4  คือ  มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่  6  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2495 ได้นำรัฐธรรมนูญฯฉบับที่  2  แก้ไขเพิ่มเติมกลับมาใช้ทำให้รัฐสภาเหลือเพียงสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร  ไม่มีวุฒิสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  7 ธรรมนูญการปกครอง  พ.ศ.2502  ได้กำหนดให้มีสภาเพียงสภาเดียวคือ  “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”  ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์  โดยให้มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับที่  8  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2511  ได้กำหนดให้มี  2  สภาอีกครั้ง  คือ  สภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  โดยวุฒิสภานั้นให้มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  9 ธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ.2515  ได้กำหนดให้มีสภาเดียวอีกครั้งเรียกว่า  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  10  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2517  ได้บัญญัติให้มีระบบ  2  สภา  คือ  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ซึ่งวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  11  และฉบับที่  12  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2519  และธรรมนูญการปกครองฯ  พ.ศ.2520  ได้กำหนดให้มีสภาเดียว  โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่  11  เรียกว่า  “สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”  และรัฐธรรมนูญฉบับที่  12  เรียกว่า  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  13  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2521  ได้กลับมากำหนดให้มี  2  สภาอีกครั้งหนึ่ง  คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  และสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญฉบับที่  14  รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว)  พ.ศ.2534  จะมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่  12  คือ  ให้มีสภาเดียว  คือ  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  เพื่อมีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับที่  15  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2534  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  โดยสมาชิกวุฒิสภาจะมาจากการแต่งตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่  16  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540  กำหนดให้มี  2  สภา  คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  โดยสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดให้มาจากการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่  17  รัฐธรรมนูญฯ  (ชั่วคราว)  พ.ศ.2549  กำหนดให้มีสภาเดียวคือ  “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  ซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและให้ทำหน้าที่แทนรัฐสภา

รัฐธรรมนูญฉบับที่  18  (ฉบับปัจจุบัน)  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550  ได้กำหนดให้มี  2  สภา  เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯพ.ศ.2540  แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่า  สมาชิกวุฒิสภาจำนวน  150  คน  ให้มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ  1  คน  ส่วนที่เหลือให้มาจากการสรรหา

กล่าวโดยสรุป

1       วุฒิสภานั้นเริ่มมีเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับที่  3  (พ.ศ.2489)  เพียงแต่ยังไม่เรียกว่าวุฒิสภา  แต่เรียกว่า  พฤฒสภา เริ่มเรียกว่าวุฒิสภาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่  4  เป็นต้นมา

2       ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่  3  เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  จะมีการกำหนดให้มีวุฒิสภาไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ  (ยกเว้นเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับที่  6  (พ.ศ.2495)  เท่านั้นที่กำหนดให้มีเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร  โดยไม่ให้มีวุฒิสภา)  เพียงแต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดกำหนดให้มีระบบ  2  สภา  ก็จะเรียกว่าวุฒิสภา  แต่ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดกำหนดให้มีสภาเดียวก็จะไม่เรียกว่าวุฒิสภา  แต่จะเรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  หรือสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน  แล้วแต่กรณี

3       สมาชิกวุฒิสภาไม่ว่าจะมีจำนวนกี่คนก็ตาม  รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ว่าให้มาจากการแต่งตั้ง  เว้นแต่รัฐธรรมนูญฯพ.ศ.2540  ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง  และรัฐธรรมนูญฯฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550)  ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งและการสรรหา

 

ข้อ  2  จงอธิบายการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ  ที่มาของอำนาจบริหาร  และอำนาจนิติบัญญัติ  ตลอดจนการใช้อำนาจตุลาการ  อำนาจบริหาร  และอำนาจนิติบัญญัติ  ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อย่างละเอียด

ธงคำตอบ

การถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างอำนาจทั้งสาม

1       อำนาจนิติบัญญัติ  อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายตุลาการ  เช่น  ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นฝ่ายบัญญัติกฎหมาย  ถ้ามีการบัญญัติกฎหมายออกมาแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ก็จะต้องมีการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ  คือ  ศาลรัฐธรรมนูญ  และอาจจะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร  เช่น  การที่ฝ่ายบริหารไม่เสนอกฎหมายให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา  หรือเสนอกฎหมายไปแล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้ความเห็นชอบ  ฝ่ายบริหารก็สามารถยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็ได้

2       อำนาจบริหาร  อาจถูกควบคุมตรวจสอบได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  การไม่ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณา  การควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  เช่น  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  เป็นต้น

3       อำนาจตุลาการ  การใช้อำนาจตุลาการนั้น  อาจถูกควบคุมหรือถ่วงดุลได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น  ฝ่ายนิติบัญญัติ  ได้บัญญัติกฎหมายให้ฝ่ายตุลาการหรือศาลใช้อำนาจตามกฎหมายได้เพียงเท่าที่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้บัญญัติไว้เท่านั้น  และในบางกรณีกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นกฎหมายที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร  ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ถือว่าฝ่ายบริหารได้เข้ามาควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการนั่นเอง  แต่อย่างไรก็ตาม  ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ

ที่มาของอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

1       อำนาจนิติบัญญัติ 

อำนาจนิติบัญญัติ  มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  ซึ่งรัฐสภาจะประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของอำนาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้  คือ

(ก)   สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  ประกอบด้วยสมาชิก  500  คน  โดยเป็นสมาชิก

–                     มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง  375  คน

–                    มาจากการเลือกตั้งแบบ บัญชีรายชื่อ  125  คน

และผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสังกัดหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

(ข)  วุฒิสภา  (ส.ว.)

วุฒิสภา  (ส.ว.)  ประกอบด้วยสมาชิก  150  คน  ซึ่งมาจาก

–                     การเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด  จังหวัดละ  1  คน  รวม  76  คน

–                    การสรรหา  รวม  74  คน

2       อำนาจบริหาร

อำนาจบริหารที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ  ได้แก่  คณะรัฐมนตรี  ซึ่งประกอบด้วย

1       นายกรัฐมนตรี  จำนวน  1  คน  เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี

2       รัฐมนตรี  จำนวนไม่เกิน  35  คน  ซึ่งมีตำแหน่งหลากหลาย  เช่น  รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการฯ  รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.)  เท่านั้น  ส่วนรัฐมนตรีนั้น  นากยกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ก็ได้  แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ  แต่อย่างไรก็ตาม  คณะรัฐมนตรีจะเป็น  ส.ว.  ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ไม่ได้

การใช้อำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการ

1       อำนาจนิติบัญญัติ  ฝ่ายนิติบัญญัติ  คือ  รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่ง  กฎหมายอาญา  กฎหมายปกครอง  หรือกฎหมายอื่นๆ  มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ  เช่น  ให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม  ให้ความเห็นชอบในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ  เป็นต้น  มีอำนาจในการควบคุมการทำงานของรัฐบาล  เช่น  การตั้งกระทู้ถาม  การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  เป็นต้น

2       อำนาจบริหาร  ฝ่ายบริหาร  คือ  รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี  มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  กฎหมาย  และนโยบายที่ได้แถลงไว้

3       อำนาจตุลาการ  ฝ่ายตุลาการ  คือ  ศาล  มีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  และตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือฝ่ายนิติบัญญัติ  ซึ่งแต่ละศาลจะมีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมายแตกต่างกัน

 

ข้อ  3  นายกรัฐมนตรีเห็นว่าบทบาทหน้าที่ของ  ส.ส.  ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง  จึงได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯ  และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง  ส.ส.  เป็นการทั่วไป  ต่อมาจากการได้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้วของ  กกต.  จึงได้มีมติกำหนดให้การเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้มีการจัดวางคูหารูปแบบใหม่  โดยผู้ลงคะแนนฯ  หันหลังให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง  ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย  และจะทำให้กรรมการฯ  สามารถมองเห็นและสังเกตพฤติกรรมของผู้ลงคะแนนฯ ได้

หากกระทำการอันก่อให้เกิดอันตรายหรือทุจริตในการเลือกตั้ง  ต่อมาผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน  10  คนในจังหวัดยะลา  ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพราะเห็นว่า  ส.ส. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ปกติ  การเลือกตั้งบ่อยครั้งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน  และมติ กกต.  ที่กำหนดให้สามจังหวัดชายแดนใต้  มีการจัดวางคูหารูปแบบใหม่ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น  พระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ  และมติดังกล่าวของ  กกต.  จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ดังนี้  ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องดำเนินการในกรณีนี้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  2  ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา  93  การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

มาตรา  108  “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา”       

มาตรา  187  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

มาตรา  235  คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา  สมาชิกสภาท้องถิ่น  และผู้บริหารท้องถิ่นแล้วแต่กรณี  รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

มาตรา  236  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1)  ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา  244  ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่  ดังต่อไปนี้

(1)  พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน

มาตรา  245  ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้  เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้

(1)  บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

(2)  กฎ  คำสั่ง  หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา  244(1)(ก)  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย  มีดังนี้คือ

ประเด็นที่  1  พระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นการกระทำทางรัฐบาล  โดยนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร  เป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงยุบสภาผู้แทนราษฎร  เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ที่กำหนดไว้ในระบบรัฐสภา  (ตามมาตรา  108  และมาตรา  187)  เพื่อให้ฝ่ายบริหารถ่วงดุลหรือคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติ  เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติกับรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร  จึงเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้อำนาจโดยศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการ

ดังนั้น  เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน  ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา  244  จะไม่ดำเนินการส่งเรื่องไปให้ศาลตามมาตรา  245(1)(2)  เพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรฯในกรณีนี้

ประเด็นที่  2  มติของ  กตต  ที่กำหนดให้การเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้  มีการจัดวางคูหารูปแบบใหม่  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

การที่  กกต.  มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา  235  และ  236  และได้กำหนดให้มีการจัดวางคูหาเลือกตั้งรูปแบบใหม่นั้น  ก็มาจากการพิจารณาเห็นชอบร่วมกันของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็น  “มติ”  ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ซึ่งมติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ  จึงมีลักษณะเป็น  “กฎ”  ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา  245(2)

ตามมาตรา  2  ได้กำหนดรูปแบบการปกครองของประเทศไทยไว้ว่า  เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่งในระบบรัฐสภาประชาชนใช้อำนาจในการปกครองประเทศผ่านผู้แทนปวงชน  คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น  มาตรา  93  ได้กำหนดให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนน  “โดยตรงและโดยลับ”  ดังนั้นการจัดคูหาเลือกตั้งตามมติของ  กกต  ที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันหน้าเข้าคูหาลงคะแนนและหันหลังให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งซึ่งจะทำให้บุคคลอื่นสังเกตเห็นได้  จึงเป็นการละเมิดต่อหลักการเรื่องการออกเสียงลงคะแนน  ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนน  “โดยตรงและลับ”  มติของ  กตต.  ดังกล่าวจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น  เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา  244  สามารถดำเนินการเสนอเรื่องมติของ  กตต  ดังกล่าวพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองตามมาตรา  245(2)  เพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของมติคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีนี้ได้

สรุป  กรณีพระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ  ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่ดำเนินการส่งเรื่องไปให้ศาลเพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

กรณีมติของ  กกต.  ที่กำหนดให้มีการจัดคูหาเลือกตั้งรูปแบบใหม่  ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการเสนอเรื่องนี้พร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง  เพื่อตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้

 

ข้อ  4  นายแดงได้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมเพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่  ปรากฏว่า  กกต.  จังหวัดเชียงใหม่ฯ  ตรวจสอบคุณสมบัตินายแดงแล้วเห็นว่านายแดงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน  เนื่องจากได้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย  ซึ่งต่อมานายแดงไอ้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น  ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ  ดังนั้น  กกต.  จังหวัดเชียงใหม่  จึงได้ปฏิเสธการรับสมัครฯ  หากนายแดงเห็นว่าตนมีคุณสมบัติครบถ้วน  การไม่รับสมัครเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงประสงค์ที่จะใช้สิทธิในทางศาล  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายแดงสามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และศาลใดที่มีอำนาจในการรับฟ้องไว้พิจารณา

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ.2550

มาตรา  28  วรรคสอง  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้  สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

มาตรา  102  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้  เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2)เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

วินิจฉัย

ตามมาตรา  28  วรรคสอง  เป็นกรณีของการใช้สิทธิในทางศาลของบุคคลในรัฐ  โดยบุคคลสามารถใช้สิทธิทางศาลได้เมื่อมีการละเมิดหรือการกระทำอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายต่อสิทธิหรือเสรีภาพในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของบุคคลนั้น  และเป็นสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้ได้รับรองไว้  ซึ่งการใช้สิทธิทางศาลนั้นบุคคลผู้ถูกละเมิดหรือเสรีภาพดังกล่าวมีสิทธินำคดีไปฟ้องศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้ในคดีได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า   การที่  กกต.  จังหวัดเชียงใหม่ฯ  ปฏิเสธการรับสมัครรับเลือกตั้งฯของนายแดง  เป็นการละเมิดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งฯของนายแดงหรือไม่  กรณีนี้เห็นว่า   การที่  กกต.  จังหวัดเชียงใหม่ฯปฏิเสธการรับสมัครฯของนายแดงนั้นเป็นเพราะเมื่อ  กกต  จังหวัดเชียงใหม่ฯได้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายแดงแล้วเห็นว่า  นายแดงมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนเนื่องจากได้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย  นายแดงจึงเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา  102(2)  ดังนั้นการปฏิเสธการรับสมัครฯของ  กตต  จังหวัดเชียงใหม่ฯดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งฯ  ของนายแดงแต่อย่างใด

และเมื่อกรณีดังกล่าวไม่ถือว่านายแดงได้ถูกละเมิดสิทธิ  ดังนั้นนายแดงจึงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลกรณีนี้ได้

สรุป  นายแดงไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในทางศาลกรณีนี้ได้

Advertisement