การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ฝ้ายก่อสร้างรั้วอิฐบล็อกติดกับผนังตึกแถวด้านหลังของไหมพรม ทำให้ปิดกั้นทางลมและแสงสว่างที่จะผ่านเข้าออกทางด้านหลังตึกแถวของไหมพรม ไหมพรมจึงได้ฟ้องร้องให้ฝ้ายรื้อถอนรั้วออกและเรียกค่าเสียหาย ฝ้ายต่อสู้ว่าตนสร้างรั้วในที่ดินของตนจึงไม่ผิด และขณะเดียวกันก็ต่อสู้ว่าสาเหตุที่ตนปิดสร้างรั้วเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่าไหมพรมเองได้สร้างความรำคาญให้แก่ฝ้ายด้วยการทิ้งขยะและปล่อยน้ำทิ้งลงในเขตที่ของฝ้ายมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าฝ้ายได้บอกกล่าวให้หยุดแล้วไหมพรมก็ไม่รับฟัง ฝ้ายจึงมีความจำเป็นต้องสร้างรั้วขึ้นดังกล่าว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของฝ้ายฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 421 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 421 เป็นบทบัญญัติว่าด้วย “การใช้สิทธิเกินส่วน’’ คือเป็นการใช้สิทธิเกินไปกว่าสิทธิที่ตนมีอยู่ ซึ่งหมายถึง การกระทำที่บุคคลผู้กระทำมีสิทธิที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ได้ใช้สิทธินั้นเกินส่วนที่ตนมีไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจแกล้งผู้อื่น การใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่สุจริต หรือการใช้สิทธิโดยก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิอับมิชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นบุคคลนั้นก็จะต้องรับผิด

ตามอุทาหรณ์ การที่ฝ้ายก่อสร้างรั้วอิฐบล็อกติดกับผนังตึกแถวด้านหลังของไหมพรม ทำให้ปิดกั้นทางลมและแสงสว่างที่จะผ่านเข้าออกทางด้านหลังตึกแถวของไหมพรม ไหมพรมจึงได้ฟ้องร้องให้ฝ้ายรื้อถอนรั้วออกและเรียกค่าเสียหาย แต่ฝ้ายต่อสู้ว่า ตนสร้างรั้วในที่ดินของตนจึงไม่ผิด และขณะเดียวกันก็ต่อสู้ว่าสาเหตุที่ตนปิดสร้างรั้วเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่าไหมพรมเองได้สร้างความรำคาญให้แก่ฝ้ายด้วยการทิ้งขยะ และปล่อยน้ำทิ้งลงในเขตที่ของฝ้ายมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าฝ้ายได้บอกกล่าวให้หยุดแล้ว ไหมพรมก็ไม่รับฟัง ฝ้ายจึงจำเป็นต้องสร้างรั้วขึ้นดังกล่าวนั้น กรณีเช่นนี้ถ้าหากฝ้ายเห็นว่าไหมพรมได้สร้างความรำคาญให้ฝ้าย ฝ้ายย่อมมีสิทธิที่จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้ไหมพรมขจัดความเดือดร้อนรำคาญได้ แต่ไม่มีสิทธิที่จะสร้างรั้วอิฐปิดกั้นทางลมและแสงสว่าง แม้ว่าจะเป็นการสร้างในที่ดินของตนก็ตาม ดังนั้น การกระทำของฝ้ายจึงเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งฝ้ายจะต้องรับผิดตามมาตรา 421 ข้อต่อสู้ดังกล่าวของฝ้ายจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของฝ้ายฟังไม่ขึ้น ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 2. เด็กหญิงกุ้งอายุ 14 ปี อยู่ในความดูแลของยายแจ่ม เพราะนางปลามารดาของเด็กหญิงกุ้งต้องไปทำงานที่ต่างประเทศ จึงนำบุตรมาฝากให้ยายเลี้ยง วันเกิดเหตุเด็กชายหมึกอายุ 14 ปี บุตรของนางแช่มได้ทำร้ายเด็กหญิงกุ้งได้รับบาดเจ็บสาหัส ยายแจ่มเข้าไปช่วยก็ถูกผลักหกล้มได้รับบาดเจ็บเช่นกัน ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า เด็กชายหมึกและนางแช่มต้องร่วมกันรับผิดต่อเด็กหญิงกุ้งและยายแจ่มหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เด็กชายหมึกอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ทำร้ายเด็กหญิงกุ้งได้รับบาดเจ็บสาหัส และเมื่อยายแจ่มเข้าไปช่วยก็ถูกผลักหกล้มได้รับบาดเจ็บเช่นกันนั้น การกระทำของเด็กชายหมึกเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้เด็กหญิงกุ้งและยายแจ่มได้รับความเสียหายต่อร่างกาย และผลที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับการกระทำของเด็กชายหมึก ดังนั้น จึงถือว่าเด็กชายหมึกได้กระทำละเมิดต่อเด็กหญิงกุ้งและยายแจ่มตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน และแม้ว่าเด็กชายหมึกจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดตามมาตรา 429

และเมื่อเด็กชายหมึกต้องรับผิด นางแช่มซึ่งเป็นมารดาก็ต้องร่วมกันรับผิดกับเด็กชายหมึกด้วยตามมาตรา 429 เว้นแต่จะพิสูจน์ไต้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเด็กผู้เยาว์แล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ไม่ปรากฏว่านางแช่มได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลเด็กชายหมึกผู้เยาว์แต่อย่างใด

ดังนั้น นางแช่มจึงต้องร่วมกับเด็กชายหมึกรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อเด็กหญิงกุ้งและยายแจ่มตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 429

สรุป เด็กชายหมึกและนางแช่มต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อเด็กหญิงกุ้งและยายแจ่ม

 

 

ข้อ 3. นายเอื้อเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง ซึ่งมีนิสัยดุร้าย มักกัดคนในบ้านเป็นประจำ นายเอื้อจึงไล่สุนัขออกจากบ้านไม่เลี้ยงอีกต่อไป สุนัขดังกล่าวเมื่อถูกไล่ออกจากบ้านก็ยังคงวนเวียนอยู่ไม่ห่างจากรั้วบ้านของนายเอื้อ และคุ้ยหาเศษอาหารจากบริเวณที่ทิ้งขยะประจำซอย วันเกิดเหตุนายเข็มเดินผ่านริมรั้วบ้านของนายเอื้อ ปรากฏว่าสุนัขดังกล่าววิ่งเข้ามากัดขานายเข็มเป็นแผลลึกต้องเย็บ 10 เข็ม

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายเข็มจะเรียกร้องให้นายเอื้อรับผิดทางละเมิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณ์ตามอุทาหรณ์ นายเข็มจะเรียกร้องให้นายเอื้อรับผิดทางละเมิดได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายเอื้อไล่สุนัขออกจากบ้าน และต่อมาสุนัขตัวดังกล่าวได้วิง่เข้ามากัดขานายเข็มเป็นแผลลึกจนต้องเย็บ 10 เข็มนั้น

กรณีนี้นายเอื้อไม่ต้องรับผิดต่อนายเข็มตามมาตรา 433 อันว่าด้วยความเสียหายที่เกิดจากสัตว์ เพราะเมื่อนายเอื้อไล่สุนัขออกจากบ้านไม่เลี้ยงดูอีกต่อไปนั้น สุนัขตัวดังกล่าวจึงเป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ นายเอื้อจึงมิใช่เจ้าของหรือผู้รับเลี้ยงรับรักษาสุนัขดังกล่าว อันจะต้องรับผิดตามมาตรา 433 แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายเอื้อไล่สุนัขออกจากบ้านโดยที่ตนเองรู้อยู่ว่าสุนัขดังกล่าวมีนิสัยดุร้ายกัดคนเป็นประจำ และนายเอื้อย่อมคาดหมายได้โดยวิญญูชนทั่วไปว่าสุนัขอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนที่เดินผ่านไปมานั้นการกระทำของนายเอื้อถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย และการกระทำของนายเอื้อสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น คือ การบาดเจ็บของนายเข็ม ดังนั้นการกระทำของนายเอื้อจึงเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 นายเอื้อจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเข็ม

สรุป นายเข็มสามารถเรียกร้องให้นายเอื้อรับผิดทางละเมิดได้ตามมาตรา 420

 

 

ข้อ 4. นายรวดเร็วและนายว่องไวท้าแข่งรถกันบนถนนสายมิตรภาพ ทั้งสองขับรถด้วยความเร็วสูงนายรวดเร็วเร่งความเร็วแซงรถของนายว่องไวที่ขับอยู่ข้างหน้าเข้าไปในช่องทางเดินรถฝั่งตรงข้ามแต่ไม่พ้น จึงชนกับรถยนต์รับส่งนักเรียนซึ่งวิ่งมาตามปกติในช่องทางดังกล่าว เป็นเหตุให้เด็กหญิงน้ำค้างและเด็กชายบอลอายุ 14 ปี ซึ่งนั่งมาในรถรับส่งนักเรียนถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเมฆเป็นบิดาของเด็กหญิงน้ำค้างและเด็กชายบอล โดยเด็กหญิงน้ำค้างเกิดจากนางฝนซึ่งเป็นภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับนายเมฆ และนางฝนเสียชีวิตไปแล้ว นายเมฆได้อุปการะและส่งเสียเลี้ยงดูเด็กหญิงน้ำค้างมาตลอด ส่วนเด็กชายบอลเป็นบุตรที่เกิดจากนางฟ้าภริยาคนแรกที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และนายเมฆได้ยกเด็กชายบอลให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายหมอก โดยนายหมอกได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไว้ ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นายเมฆจะเรียกร้องให้นายรวดเร็วและนายว่องไวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง ”

มาตรา 301 “ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกับชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน”

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย คือ

ประเด็นที่ 1 นายรวดเร็วและนายว่องไวได้ทำละเมิดหรือร่วมกันทำละเมิดต่อเด็กหญิงน้ำค้างและเด็กชายบอลหรือไม่

กรณีนายรวดเร็ว การที่นายรวดเร็วและนายว่องไวท้าแข่งรถกันบนถนน และทั้งสองขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อนายรวดเร็วเร่งความเร็วแซงรถของนายว่องไวที่ขับอยู่ข้างหน้าเข้าไปในช่องทางเดินรถฝั่งตรงข้ามแต่ไม่พ้น จึงชนกับรถยนต์รับส่งนักเรียนและเป็นเหตุให้เด็กหญิงน้ำค้าง และเด็กชายบอลอายุ 14 ปี ซึ่งนั่งมาในรถรับส่งนักเรียนถึงแก่ความตายนั้น การกระทำของนายรวดเร็วถือว่าเป็นการทำละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทำของนายรวดเร็วมีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น คือความตายของเด็กหญิงน้ำค้างและเด็กชายบอล ดังนั้น นายรวดเร็วจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

กรณีนายว่องไว จะถือว่าได้ร่วมกันทำละเมิดกับนายรวดเร็วหรือไม่นั้น เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการ “ร่วมกันทำละเมิด” ตามบทบัญญัติมาตรา 432 บั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำร่วมมือร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทั้งสองมิได้มีเจตนาร่วมกันในการกระทำ หรือได้ร่วมมือร่วมใจกันในการกระทำจึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อเด็กหญิงน้ำค้างและเด็กชายบอลตามมาตรา 432

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เด็กหญิงน้ำค้างและเด็กชายบอลถึงแก่ความตายนั้นมีความสัมพันธ์กับการกระทำของนายว่องไว กล่าวคือ ถ้านายว่องไวไม่ได้ท้าแข่งรถกันบนถนนกับนายรวดเร็วแล้ว นายรวดเร็วก็จะไม่ขับรถด้วยความเร็วสูงจนทำให้ชนกับรถยนต์รับส่งนักเรียนและเป็นเหตุให้เด็กหญิงน้ำค้างและเด็กชายบอลซึ่งนั่งมาในรถรับส่งนักเรียบถึงแก่ความตาย ดังนั้นจึงถือว่านายว่องไวได้กระทำโดยละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายต่อชีวิต จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่นเดียวกับนายรวดเร็ว โดยจะต้องรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 301 และ

มาตรา 291

ประเด็นที่ 2 นายเมฆจะเรียกร้องให้นายรวดเร็วและนายว่องไวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

  1. กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคแรก ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย ซึ่งกรณีที่บิดาจะเรียกเอาค่าปลงศพของบุตรบั้น บิดาจะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรผู้ตายด้วย ดังนั้นกรณีของเด็กหญิงน้ำค้างเมื่อปรากฏว่าเด็กหญิงน้ำค้างได้เกิดกับนายเมฆและนางฝนซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้นายเมฆจะได้อุปการะและส่งเสียเลี้ยงดูเด็กหญิงน้ำค้างมาตลอดก็ไม่ถือว่านายเมฆเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงน้ำค้าง นายเมฆจึงมิใช่ทายาทของผู้ตาย ดังนั้นจึงเรียกค่าปลงศพกรณีที่เด็กหญิงน้ำค้างถึงแก่ความตายไม่ได้

ส่วนกรณีของเด็กชายบอลซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากนางฟ้าภริยาคนแรกของนายเมฆที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้นายเมฆจะได้ยกเด็กชายบอลให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายหมอกแล้วก็ตาม แต่ตามกฎหมายถือว่า บุตรนั้นย่อมไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา (มาตรา 1598/28) ดังนั้นจึงถือว่านายเมฆเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายบอล และเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (2) นายเมฆจึงสามารถเรียกค่าปลงศพกรณีที่เด็กชายบอลถึงแก่ความตายได้

  1. กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว

ดังนั้นเมื่อนายเมฆมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงน้ำค้าง เด็กหญิงน้ำค้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายเมฆตามมาตรา 1563 ดังนั้น นายเมฆจึงไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443วรรคท้าย กรณีที่เด็กหญิงน้ำค้างถึงแก่ความตายได้

ส่วนกรณีของเด็กชายบอล เมื่อปรากฏว่านายเมฆเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายบอล เด็กชายบอลจึงมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูนายเมฆตามมาตรา 1563 ดังนั้น นายเมฆจึงสามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย กรณีที่เด็กชายบอลถึงแก่ความตายได้

สรุป นายเมฆสามารถเรียกร้องให้นายรวดเร็วและนายว่องไวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้เฉพาะกรณีที่เด็กชายบอลถึงแก่ความตายเท่านั้น แต่ไม่สามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะกรณีที่เด็กหญิงน้ำค้างถึงแก่ความตายได้

Advertisement