การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายโหดได้ฉุดกระชากนางสาวแสนสวยออกจากรถยนต์ เพื่อจะทำการข่มขืน ทำให้นางสาวแสนสวยหกล้มศีรษะกระแทกพื้นถึงแก่ความตายทันที นายโหดไม่ทราบว่านางสาวแสนสวยได้ตายไปแล้วได้ทำการข่มขืนจนสำเร็จความไคร่ของตน จากนั้นยังได้พูดจาดูหมิ่นนางสาวแสนสวยอีกด้วยว่า “เสียตัวมาแล้วก็ไม่บอก อีบ้าเอ๊ย” ซึ่งการกระทำของนายโหดเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 22 และ 23 ที่เพิ่งบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมา ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า การกระทำของนายโหดที่ข่มขืนนั้นเป็นการทำละเมิดต่อร่างกายของนางสาวแสนสวยหรือไม่ เพราะเหตุใด และหากว่าอัยการได้สั่งฟ้องนายโหดแล้วในคดีอาญามารดาของนางสาวแสนสวยจะเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 ได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 15 วรรคแรก “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย”

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ”

มาตรา 446 “ในกรณิทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย มีดังนี้คือ

ประเด็นที่ 1 การกระทำของนายโหดที่ข่มขืนนั้นเป็นการทำละเมิดต่อร่างกายของนางสาวแสนสวยการที่นายโหดได้ฉุดกระชากนางสาวแสนสวยออกจากรถยนต์เพื่อจะทำการข่มขืน ทำให้นางสาวแสนสวยหกล้มศีรษะกระแทกพื้นถึงแก่ความตายทันทีนั้น การกระทำของนายโหดถือว่าเป็นการกระทำโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายต่อชีวิต และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำของนายโหดจึงถือว่านายโหดได้กระทำละเมิดต่อนางสาวแสนสวยตามมาตรา 420 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน

แต่การที่นางสาวแสนสวยได้ถึงแก่ความตายแล้วนั้น ย่อมถือได้ว่านางสาวแสนสวยไม่มีสภาพบุคคลกล่าวคือสภาพบุคคลของนางสาวแสนสวยได้สิ้นสุดลงแล้วตามมาตรา 15 วรรคแรก ดังนั้น แม้นายโหดจะไม่ทราบว่านางสาวแสนสวยได้ตายไปแล้ว และได้ทำการข่มขืนจนสำเร็จความใคร่นั้น จึงไม่ถือว่านายโหดได้ทำละเมิดต่อร่างกายของนางสาวแสนสวย แต่เป็นการกระทำชำเราต่อศพ ซึ่งการกระทำของนายโหดที่ได้ทำการกระทำชำเราศพและได้พูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามศพโดยการพูดว่า “เสียตัวมาแล้วก็ไม่บอก อีบ้าเอ๊ย” นั้น ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 22 และ 23 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 นั้น ถือว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศและชื่อเสิยง

ประเด็นที่ 2 มารดาของนางสาวแสนสวยจะเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 ได้หรือไม่

การเรียกค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 นั้น ผู้ที่สามารถเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ต้องเสียหายที่ได้รับความเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยหรือเสรีภาพหรือหญิงที่ต้องเสียหายเพราะมีผู้กระทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตน และจะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่ผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ถึงแก่ความตาย ในกรณีที่มีการกระทำละเมิดทำให้เขาถึงแก่ความตายนั้น จะเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีนี้ไม่ได้

ตามอุทาหรณ์ เมื่อการกระทำของนายโหด เป็นการละเมิดทำให้นางสาวแสนสวยถึงแก่ความตายทันที ดังนั้น มารดาของนางสาวแสนสวยจึงเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ไม่ได้

สรุป การกระทำของนายโหดที่ข่มขืนนั้นไม่เป็นการทำละเมิดต่อร่างกายของนางสาวแสนสวยและมารดาของนางสาวแสนสวยจะเรียกค่าเสียหายอับมิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ไม่ได้

 

 

ข้อ 2. นายเอและนายบีเป็นเพื่อนกัน คืนหนึ่งขณะที่ทั้งสองนอนหลับ นายเอบังเอิญนอนละเมอรุนแรงเตะนายบีตกเตียงหัวกระแทกพื้นต้องเย็บห้าเข็ม นายเอรู้สึกผิดมากจึงพยายามหาเงินมาชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้นายบีด้วยการขายยาเสพติด วันหนึ่งขณะที่นายเอกำลังขายยาเสพติด เจ้าพนักงานตำรวจขาวเห็นเหตุการณ์พอดีจึงเข้าทำการจับกุมนายเอ แต่เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจขาวไม่ชอบหน้านายเอตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก และรู้ว่านายเอกลัวผีมากจึงทำการใส่กุญแจมือแต่ไม่ยอมพานายเอไปยังสถานีตำรวจในทันที กลับนำไปมัดไว้กับต้นไทรใหญ่ในป่าช้าที่วัดใกล้ ๆ เป็นเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืน เพื่อให้นายเอหลาบจำ เป็นเหตุให้นายเอหวาดกลัวมากถึงขั้นเสียสติเพ้อคล้ายจะเป็นบ้า ต้องทำการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์จึงหายขาด จงวินิจฉัยว่าบุคคลใดจะต้องรับผิดในทางละเมิดบ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 421 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”

วินิจฉัย

การกระทำอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

  1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลนเล่อ
  2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
  3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
  4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายเอ การกระทำที่จะเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 นั้น หลักเกณฑ์ประการแรกคือจะต้องมี “การกระทำ” ซึ่งการกระทำนั้น หมายถึง การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกหรืออยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเอบังเอิญนอนละเมอรุนแรงเตะนายบีตกเตียงหัวกระแทกพื้นต้องเย็บห้าเข็มนั้น การกระทำของนายเอเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่รู้สำนึกหรืออยู่ภายใต้บังคับของจิตใจของนายเอแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่านายเอมีการกระทำ และเมื่อไม่ถือว่าเป็นการกระทำของนายเอ ดังนั้น จึงไม่ถือว่านายเอได้กระทำละเมิดต่อนายบี นายเอจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายบี

กรณีของเจ้าพนักงานตำรวจขาว ตามมาตรา 421 เป็นบทบัญญัติว่าด้วย “การใช้สิทธิเกินส่วน”

คือเป็นการใช้สิทธิเกินไปกว่าสิทธิที่ตนมีอยู่ ซึ่งหมายถึง การกระทำที่บุคคลผู้กระทำมีสิทธิที่จะกระทำได้ตามกฎหมายแต่ได้ใช้สิทธินั้นเกินส่วนที่ตนมีไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจแกล้งผู้อื่น การใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่สุจริต หรือการใช้สิทธิโดยก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นก็จะต้องรับผิดการที่เจ้าพนักงานตำรวจขาวได้เข้าจับกุมนายเอนั้น

ถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจขาวมีอำนาจและสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำได้ แต่ตามข้อเท็จจริงการที่เจ้าพนักงานตำรวจขาวไม่ชอบหน้านายเอตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก และรู้ว่านายเอกลัวผีมาก จึงทำการใส่กุญแจมือแล้วนำไปมัดไว้กับต้นไทรใหญ่ในป่าช้าที่วัดเป็นเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืน เป็นเหตุให้นายเอหวาดกลัวมากถึงขั้นเสียสติเพ้อคล้ายจะเป็นบ้า ต้องทำการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์จึงหายขาดนั้น

การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจขาวถือว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน คือเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจแกล้งผู้อื่น จึงเป็นการใช้สิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำนั้นทำให้นายเอได้รับความเสียหายแก่อนามัยและเสรีภาพ การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจขาว จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนายเอ จึงต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายเอตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 421

สรุป นายเอไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายบี แต่เจ้าพนักงานตำรวจขาวต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายเอ

 

 

ข้อ 3. นางสาวน้อยอายุ 17 ปี บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายต้อยและนางแต๋ว แอบหยิบกุญแจรถยนต์ที่นายต้อยนำไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงิน ซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจ แล้วขับรถยนต์ของนายต้อยไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ระหว่างเดินทางนั้น นางสาวน้อยขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากขับแข่งกันมากับรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งมีนายจ้อย อายุ 17 ปี บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายอ้อย โดยนายจ้อยได้ไปงัดโต๊ะที่นายอ้อยเก็บกุญแจรถยนต์ไว้อย่างดีหนีบิดาออกมาเที่ยวเช่นกัน ทั้งนางสาวน้อยและนายจ้อยขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงและไม่ได้ระมัดระวัง เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันนั้นขับพุ่งซนรถยนต์ของนางแจ๋วที่จอดรอสัญญาณไฟอยู่ได้รับความเสียหาย จงวินิจฉัยว่า ใครจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ๋ว อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 301 “ล้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน”

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกับทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกับรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ได้แก่

ประเด็นที่ 1 นางสาวน้อยและนายจ้อยได้ทำละเมิดหรือร่วมกันทำละเมิดต่อนางแจ๋วหรือไม่การที่นางสาวน้อยและนายจ้อยซึ่งมีอายุ 17 ปีทั้งสองคน ได้ขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากได้ขับแข่งกันและไม่ได้ระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันนั้นขับพุ่งชนรถยนต์ของนางแจ๋วที่จอดรอสัญญาณไฟอยู่ได้รับความเสียหายนั้น การกระทำของนางสาวน้อยและนายจ้อยถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อนางแจ๋วตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน และการกระทำของทั้งสองมีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ดังนั้น นางสาวน้อยและนายจ้อยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางแจ๋ว และแม้ว่านางสาวน้อยและนายจ้อยจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิดตาม

มาตรา 429

ส่วนกรณีที่จะถือว่านางสาวน้อยและนายจ้อยได้ร่วมกันทำละเมิดต่อนางแจ๋วหรือไม่นั้น กรณีที่จะถือว่าเป็นการ “ร่วมกันทำละเมิด” ตามบทบัญญัติมาตรา 432 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำได้ร่วมใจกันกระทำมาตั้งแต่ต้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทั้งสองมิได้มีเจตนาร่วมกันในการกระทำ หรือได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อนางแจ๋วตามมาตรา 432 ดังนั้น ทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 301

ประเด็นที่ 2 นายต้อยและนางแต๋วซึ่งเป็นบิดามารดาของนาวสาวน้อย และนายอ้อยซึ่งเป็นบิดาของนายจ้อย จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ๋วหรือไม่ อย่างไร

กรณีของนายต้อยและนางแต๋ว ซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวน้อยผู้เยาว์นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าทั้งสองมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเก็บล็อกกุญแจรถยนต์ กล่าวคือนำกุญแจรถยนต์ไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินโดยไม่ได้ใส่กุญแจทำให้นางสาวน้อยแอบหยิบกุญแจรถยนต์ไปได้

ดังนั้น ทั้งสองจึงต้องรับผิดในทางละเมิดร่วมกับนางสาวน้อยตามมาตรา 429 คือจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ๋ว

ส่วนกรณีของนายอ้อย ซึ่งเป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายจ้อย แต่ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งรับดูแลนายจ้อยผู้เยาว์นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายอ้อยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยการเก็บรถยนต์ไว้อย่างดีแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับนายจ้อยซึ่งได้กระทำในทางละเมิดต่อนางแจ๋วตามมาตรา 430

สรุป นางสาวน้อย นายจ้อย นายต้อย และนางแต๋ว ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ๋ว ส่วนนายอ้อยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางแจ๋ว

 

 

ข้อ 4. นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรคนหนึ่งคือเด็กชายแดง หลังจากนาง ข. คลอดเด็กชายแดงแล้ว นาง ข. ถึงแก่ความตาย เมื่อนาง ข. ตาย นาย ก. ได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดง นาย ก. ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุลของนาย ก. นาย ก. ส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ วันเกิดเหตุจำเลยซับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก. ถึงแก่ความตาย ดังนี้ เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 443 “ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหนทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก. ถึงแก่ความตาย

การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้เขาเสียหายแก่ชีวิตและกระทำของจำเลยสัมพันธ์กับผลของการกระทำ คือ ความตายของนาย ก. จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย คือ เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคแรก ผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย ซึ่งกรณีที่บุตรเรียกเอาค่าปลงศพของบิดานั้น บุตรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้สืบสันดานของบิดาตามกฎหมายด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1)) กล่าวคือ จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. และนาง ข. อยู่กินด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือ เด็กชายแดงนั้น ดังนี้ถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายของนาย ก. แต่เมื่อนาย ก. ยินยอมให้เด็กชายแดงใช้นามสกุล และส่งเสียเด็กชายแดงให้ได้เรียนหนังสือ ย่อมถือว่าเด็กชายแดงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาให้การรับรองโดยพฤติการณ์แล้ว จึงส่งผลให้เด็กชายแดงเป็นผู้สิบสันดานและเป็นทายาทของนาย ก. ผู้ตาย (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 และมาตรา 1629 (1)) ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนนาย ก. ถึงแก่ความตาย เด็กชายแดงจึงเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้ตามมาตรา 443วรรคแรก

ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้น บทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าผู้ที่มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิดจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เมื่อปรากฏว่านาย ก. มิได้เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กขชายแดงผู้เยาว์ นาย ก. (ผู้ตาย) จึงไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายแดงซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1564 ดังนั้น เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย จากจำเลยผู้กระทำละเมิดไม่ได้

สรุป เด็กชายแดงจะเรียกร้องค่าปลงศพจากจำเลยได้ แต่จะเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยไม่ได้

Advertisement