การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. กฎหมายตามเนื้อความและกฎหมายตามแบบพิธีคืออะไร อธิบาย

ธงคำตอบ

“กฎหมายตามเนื้อความ” คือ กฎหมายที่มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับโดยรัฏฐาธิปัตย์ เพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของประชาชน ซึ่งถ้าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดและถูกลงโทษ

กฎหมายตามเนื้อความจะต้องมีลักษณะที่สำคัญดังนี้คือ

  1. ต้องเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการตรากฎหมาย
  2. ต้องเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป คือมีผลบังคับได้กับบุคคลทั่วไปในรัฐ
  3. ต้องเป็นกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ (บุคคล) ซึ่งอาจเป็นข้อบังคับกำหนดให้บุคคลต้องกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการก็ได้
  4. ต้องเป็นกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับได้ตลอดไป จนกว่าจะมีการยกเลิก
  5. ต้องเป็นกฎเกณฑ์ที่มีสภาพบังคับ กล่าวคือ ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดและจะถูกลงโทษ ซึ่งสภาพบงคับนั้นอาจเป็นสภาพบังคับทางอาญา (โทษ) ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน หรือสภาพบังคับทางแพ่ง เช่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย เป็นต้น

“กฎหมายตามแบบพิธี” คือ กฎหมายที่ผ่านกระบวนการบัญญัติกฎหมายแต่อาจไม่มีลักษณะครบองค์ประกอบที่จะเป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือกฎหมายที่ออกมาโดยวิธีบัญญัติกฎหมาย

ทั้งนี้โดยมิได้คำนึงว่ากฎหมายนั้นจะเข้าลักษณะเป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือไม่ เช่น เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยไม่มีบทบัญญัติกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งถ้าหากมีการฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ เป็นต้น

ซึ่งกฎหมายตามแบบพิธีนี้มักจะเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เช่น การตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน การตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

 

ข้อ 2. นายแดงหนุ่มโสด อาศัยอยู่กับบิดามารดาที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 นายแดงได้บอกบิดามารดาของตนเองว่าจะขับขี่รถมอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์ไปเที่ยวทั่วประเทศไทย จนถึงวันนี้ (28 พฤษภาคม 2560) ก็ยังไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวว่านายแดงเป็นตายร้ายดีอย่างไร อยากทราบว่าผู้ใดสามารถร้องขอต่อศาลสั่งให้นายแดงเป็นคนสาปสูญ และสามารถร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่เมื่อใด อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1)     นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)     นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3)     นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงหนุ่มโสดอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่กรุงเทพมหานครฯ ได้บอกกับบิดามารดาของตนเองว่าจะขับขี่รถมอเตอร์ไซต์บิ๊กไบค์ไปเที่ยวทั่วประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 และหลังจากนั้นไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวว่านายแดงเป็นตายร้ายดีอย่างไรเลยนั้น กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่านายแดงได้หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่านายแดงยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ในกรณีธรรมดา เนื่องจากนายแดงไม่ได้สูญหายไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 61 วรรคสอง แต่อย่างใด ส่วนผู้ใดที่สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อนสั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญ และสามารถร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่เมื่อใดนั้นแยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 ผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญ ได้แก่

(1) ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีสิทธิหรือได้รับสิทธิต่างๆขึ้นเนื่องจากศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ ซึ่งในที่นี้ก็คือ บิดามารดาของนายแดงนั่นเอง

(2) พนักงานอัยการ

2 เมื่อการสูญหายของนายแดงเป็นกรณีธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียคือบิดามารดาของนายแดงหรือพนักงานอัยการสามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้ เมื่อครบกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่นายแดงได้หายไป คือนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่บิดามารดาของนายแดงได้รับข่าวคราวของนายแดงเป็นครั้งหลังสุด ซึ่งในกรณีนี้จะครบกำหนด 5 ปีในวันที่ 1 มีนาคม 2555 ดังนั้นจึงสามารถร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป

สรุป

บิดามารดาของนายแดงและพนักงานอัยการเป็นผู้ที่สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นายแดงเป็นคนสาบสูญได้ และสามารถร้องขอต่อศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3. โดยปกติผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆที่ผู้เยาว์ได้กระทำลงโดยปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นย่อมเป็นโมฆียะ มีกรณีใดบ้างที่ผู้เยาว์สามารถกระทำได้โดยลำพังโดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ให้นักศึกษาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบทุกกรณี

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา22 “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆได้ทั้งสิ้นหากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”

มาตรา 23 “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว”

มาตรา 24 “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตนและเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร”

ฆาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า นิติกรรมที่ผู้เยาว์อาจทำได้โดยลำพังตนเองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทบโดยชอบธรรม ได้แก่

  1. นิติกรรมที่เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว หมายถึง นิติกรรมที่เมื่อผู้เยาว์ได้ทำแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว หรือเป็นนิติกรรมที่เมื่อผู้เยาว์ได้ทำแล้วจะไม่ก่อให้เกิดหน้าที่และเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ผู้เยาว์นั้นเอง (ตามมาตรา 22) ซึ่งแยกออกเป็น 2 กรณี คือ

(1)  นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปแต่เพียงสิทธิอันใดอันหนึ่ง เช่น ปู่ยกที่ดินให้แก่ผู้เยาว์โดยเสน่หาโดยไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ผู้เยาว์ย่อมสามารถจดทะเบียนรับโอนที่ดินนั้นได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแต่อย่างใด

(2)  นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง หรือทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากภาระหน้าที่ที่มีอยู่นั่นเอง เช่น การที่ผู้เยาว์รับเอาการปลดหนี้ที่เจ้าหนี้ของผู้เยาว์ได้ปลดหนี้ให้แก่ผู้เยาว์ เป็นต้น

  1. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว (ตามมาตรา 23) ซึ่งหมายถึง นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำด้วยตนเองจะให้ผู้อื่นทำแทนให้ไม่ได้นั้นเอง เช่น การที่ผู้เยาว์จดทะเบียนรับรองบุตร หรือการเพิกถอนการสมรส เป็นต้น
  2. นิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของผู้เยาว์ และเป็นการสมแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์ (ตามมาตรา 24) เช่น การที่ผู้เยาว์ซื้ออาหารรับประทาน หรือซื้อตำราเรียน เป็นต้น
  3. พินัยกรรมซึ่งผู้เยาว์ได้ทำในขณะที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว (ตามมาตรา 25)

Advertisement