การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1002 หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ช่องว่างของกฎหมายคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีการบัญญัติถึงวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้อย่างไรบ้าง อธิบาย

ธงคำตอบ

ช่องว่างแห่งกฎหมาย คือ กรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณอักษรที่จะนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้กล่าวคือ ผู้ใช้กฎหมายหากฎหมายเพื่อนำมาปรับใช้แก่กรณีไม่พบนั่นเอง

โดยปกติช่องว่างแห่งกฎหมายเกิดจากการที่ผู้ร่างกฎหมายคิดไปไม่ถึงว่าจะมีช่องว่างในกฎหมาย อาจจะเป็นเพราะผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถที่จะนึกถึงช่องว่างของกฎหมายนั้นได้ เพราะยังไม่มีเหตุการณ์อันทำให้ช่องว่างนั้นเกิดขึ้น

ซึ่งหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า

“เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป ”

กล่าวคือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ให้ศาลวินิจฉัยตามลำดับ ดังนี้

  1. ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น หมายความว่า ถ้าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาตัดสินคดีที่มาสู่ศาล ก็ให้ศาลนำเอาจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทนกฎหมายลายลักษณ์อักษรเพื่อวินิจฉัยตัดสินคดี ซึ่งจารีตประเพณีก็คือ ระเบียบแบบแผนที่มนุษย์ยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนบุคคลทั่วไปรู้สึกว่าเป็นข้อบังคับที่จะนำมาใช้ได้ และมีผลเช่นเดียวกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง เช่น จารีตประเพณีการค้าฃองธนาคารพาณิชย์ จารีตประเพณีเกี่ยวกับการขนส่ง เป็นต้น
  2. ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งห้องถิ่น ให้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายความว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงหรือคดีเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร อีกทั้งไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะนำมาใช้ในการวินิจฉัยคดีนั้นได้ ศาลก็ยังคงต้องวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดีโดยการอาศัยบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งนี้หมายถึงบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกฎหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง มิใช่กฎหมายอย่างอื่นที่มีลักษณะต่างกัน เช่น การขุดหลุมรับน้ำโสโครก หลุมรับปุ๋ย หรือหลุมรับขยะมูลฝอย มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะขุดในระยะสองเมตรจากแนวเขตที่ดินไม่ได้ (มาตรา 1342) แต่หลุมที่รับกากสารเคมีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าขุดได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในเรื่องการขุดหลุมรับกากสารเคมี มีเหตุผลที่ควรจะห้ามมิให้ขุดในระยะที่ใกล้เคียงกับแนวเขตที่ดิน เพราะอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่บุคคลที่อยู่ในที่ดินข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงนำเอามาตรา 1342 มาใช้เทียบเคียงกับการขุดหลุมรับกากสารเคมีได้ เป็นต้น
  3. ในกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ให้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรณีนี้เป็นวิธี การอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งประการสุดท้ายหมายความว่า ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรไม่มีจารีตประเพณี และไม่มีบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ศาลก็ต้องวินิจฉัยตัดสินคดีโดยให้นำเอาหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับ ซึ่งหลักกฎหมายทั่วไปนี้อาจจะเป็นหลักกฎหมายดั้งเดิมของกฎหมายโรมัน หรือสุภาษิตของกฎหมาย หรืออาจจะเป็นหลักกฎหมายที่นานาอารยประเทศยอมรับและใช้ปฏิบัติกันทั่วไปก็ได้ เช่น สัญญาต้องเป็นสัญญา ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งขึ้น ศาลจะต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้น จะยกฟ้องโดยอาศัยเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาวินิจฉัยไม่ได้

 

ข้อ 2. นายแสดและนางสดเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดตรังเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 ขณะที่แวะเที่ยวน้ำตกแห่งหนึ่งได้ถูกน้ำป่าไหลหลากพัดพาหายไปทั้งคู่ ต่อมาในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 นายแสดได้โทรศัพท์มาบอกนายสุดผู้เป็นบุตรชายว่าพบศพแม่แล้ว และต่อมานายสุดก็ไม่ได้ข่าวจากนายแสดอีกเลย อยากทราบว่านายสุดจะไปร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายแสดและนางสดเป็นผู้สาบสูญได้หรือไม่ และหากได้ จะไปใช้สิทธิได้เมื่อใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 15 วรรคหนึ่ง “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย”

มาดรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1)     นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2)     นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป

(3)     นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไร้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพี่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และได้หายไปจนครบกำหนด 5 ปีหรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายสุดจะไปร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้นายแสดและนางสดเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีนายแสด

การที่นายแสดและนางสดซึ่งเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 และขณะที่แวะเที่ยวน้ำตกแห่งหนึ่งได้ถูกน้ำป่าไหลหลากพัดพาหายไปทั้งคู่นั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 นายแสดได้โทรศัพท์มาบอกนายสุดผู้เป็นบุตรชายว่าพบศพแม่แล้ว และต่อมานายสุดก็ไม่ได้ข่าวจากนายแสดอีกเลยนั้น กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่านายแสดได้สูญหายไปเนื่องจากน้ำป่าไหลหลากซึ่งเป็นเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งเป็นการสูญหายในกรณีพิเศษตามมาตรา 61วรรคสอง (3) แต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่นายแสดได้หายไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ จึงถือว่าเป็นกรณีของการสาบสูญธรรมดาตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง

และเมื่อนายสุดเป็นบุตรชายของนายแสด จึงถือว่านายสุดเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิที่จะไปร้องขอให้ศาลสั่งให้นายแสดเป็นคนสาบสูญได้ และสามารถร้องขอต่อศาลได้เมื่อครบกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่นายสุดได้รับโทรศัพท์จากนายแสด กล่าวคือจะครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ดังนั้นนายสุดจะไปใช้สิทธิร้องขอต่อศาลได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการพบศพนางสดแล้วย่อมถือว่านางสดได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดสภาพบุคคลโดยการตายธรรมดาตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้นายสุดจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางสด นายสุดก็ไม่สามารถจะไปร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นางสดเป็นคนสาบสูญได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 61

สรุป

นายสุดสามารถไปร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายแสดเป็นคนสาบสูญได้โดยสามารถเริ่มไปใช้สิทธิทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป แต่นายสุดไม่สามารถจะไปร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้นางสดเป็นคนสาบสูญได้

 

ข้อ 3. บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1)     หนึ่งทำพินัยกรรมกำหนดไว้ว่า เมื่อตนถึงแก่ความตายให้ยกเงินสดส่วนตัวของตนที่ฝากไว้ในธนาคารให้แก่มูลนิธิคนปัญญาอ่อน 1 ล้านบาท ในขณะที่หนึ่งมีอายุย่างเข้า 15 ปี

(2)     สองคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมลูกควาย 10 ตัว ไปแสดงโชว์ให้นักเรียนดู โดยผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างใด

(3)     สามคนไร้ความสามารถ ได้รับอนุญาตจากนางแดงผู้อนุบาลให้ไปซื้อรถยนต์จากนายดำในราคา 1 ล้านบาท

(4)     นายห้าคนวิกลจริต ไปซื้อรถจักรยานเสือภูเขาจากนายหกในขณะกำลังวิกลจริต แต่นายหกไม่ทราบว่าวิกลจริต

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 25 “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ ”

มาตรา 1703 “พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

(1)     ตามมาตรา 25 นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมไต้เมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ หากผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว พินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ เสมือนว่ามิได้มีการทำพินัยกรรมนั้นเลยตามมาตรา 1703

ตามปัญหา การที่นายหนึ่งมีอายุย่างเข้า 15 ปียังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ได้ทำพินัยกรรมขึ้น โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงแก่ความตายให้ยกเงินสดของตนในธนาคารให้แก่มูลนิธิคนปัญญาอ่อนจำนวน 1 ล้านบาทนั้น

ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 25 ดังนั้นพินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1703

(2)     โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้โดยลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สำคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์

อันมีค่า คนเสมือนไร้ความสามารถจะทำต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่สองคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมลูกควาย 10 ตัว ไปแสดงโชว์ให้นักเรียนดูนั้น เป็นเพียงการให้ยืมสังหาริมทรัพย์ธรรมดาเท่านั้น (เพราะลูกควายไม่ใช่สัตว์พาหนะ) จึงไม่ใช่กรณีที่คนเสมือไร้ความสามารถให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า (สังหาริมทรัพย์ที่เมื่อมีการจำหน่ายจ่ายโอนจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) ซึ่งเป็นนิติกรรมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนตามมาตรา 34 (3) ดังนั้นแม้สองจะให้เพื่อนยืมลูกควาย 10 ตัว โดยลำพัง กล่าวคือโดยผู้พิทักษ์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างใด สัญญาการให้เพื่อนยืมลูกควาย 10 ตัว ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ

(3)     ตามมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

ตามปัญหา การที่สามคนไร้ความสามารถได้ทำนิติกรรมโดยไปซื้อรถยนต์จากนายดำในราคา 1 ล้านบาทนั้น แม้การทำนิติกรรมดังกล่าวของสามจะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอมจากนางแดงผู้อนุบาลก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

(4)     โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทำนิติกรรมบั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทำนิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

ตามปัญหา การที่นายห้าคนวิกลจริตได้ไปซื้อจักรยานเสือภูเขาจากนายหกในขณะที่กำลังวิกลจริตอยู่ เมื่อนายหกไม่ทราบว่านายห้าเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อจักรยานเสือภูเขาจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

สรุป

1) การทำพินัยกรรมของหนึ่งตกเป็นโมฆะ

2) การที่สองให้เพื่อนยืมลูกควาย 10 ตัว มีผลสมบูรณ์

3) การที่สามไปซื้อรถยนต์จากนายดำเป็นโมฆียะ

4) การซื้อจักรยานเสือภูเขาระหว่างนายห้าและนายหกมีผลสมบูรณ์

Advertisement