การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระชวนวิชา  LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

Advertisement

ข้อ  1  จงนำกฎหมายมหาชนไปอธิบายการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันว่า  การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนอย่างไร  พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคำตอบ

กฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ  แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายมหาชน  ปัจจุบันได้แก่  กฎหมายรัฐธรรมนูญ  และกฎหมายปกครอง

กฎหมายรัฐธรรมนูญ  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบการปกครองของรัฐในทางการเมืองโดยกำหนดโครงสร้างของรัฐ  ระบอบการปกครอง  การใช้อำนาจอธิปไตยและการดำเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อำนาจอธิปไตย

กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า  การจัดระเบียบราชการบริหาร  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  บริการสาธารณะ  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

ราชการแผ่นดินของไทยแบ่งออกเป็น  3  ส่วน  ได้แก่  ราชการบริหารส่วนกลาง  ราชการบริหารส่วนภูมิภาค  และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมายปกครองดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง  ให้อำนาจในการออกกฎ  ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

“การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น”  เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง  โดยให้มีการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้นมาแยกออกจากราชการบริหารส่วนกลาง  มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง  และมีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับมอบหมายหรือตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้  ซึ่งปัจจุบันการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นประกอบไปด้วยหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ  5  ประเภท  ได้แก่

1       เทศบาล

2       องค์การบริหารส่วนตำบล

3       องค์การบริหารส่วนจังหวัด

4       กรุงเทพมหานคร

5       เมืองพัทยา

และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  (รวมทั้งการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค)  ของไทย  ปัจจุบันจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนในแง่ที่ว่ากฎหมายมหาชน  ซึ่งได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์และวางหลักในการจัดระเบียบการปกครองของรัฐ  รวมทั้งบัญญัติสถานะอำนาจหน้าที่แก่ฝ่ายปกครองในทางปกครองและการจัดทำบริการสาธารณะ  เพื่อสนองความต้องการของประชาชนภายในรัฐ  หากไม่มีกฎหมายมหาชนบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้  ฝ่ายปกครองก็จะไม่สามารถดำเนินการใดๆได้  เพราะตามหลักการของกฎหมายมหาชนแล้ว  ฝ่ายปกครองจะกระทำการใดๆได้  ก็ต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น

ตัวอย่างที่ถือว่าการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน  เช่น  ในการจัดตั้งเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล  ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  ก็จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายมหาชนได้กำหนดไว้  หรือเมื่อมีการจัดตั้งขึ้นมาแล้ว  เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นจะมีอำนาจและหน้าที่ประการใดบ้าง  ก็จะต้องมีกฎหมายมหาชน  (ซึ่งในที่นี้ก็คือกฎหมายปกครองนั่นเอง)  บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ไว้ด้วย  ทั้งนี้เพราะตามหลักกฎหมายมหาชนนั้น  หน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น  (รวมทั้งหน่วยราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค)  จะสามารถดำเนินการใดๆได้  ก็จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจและหน้าที่ไว้เท่านั้น

และในการใช้อำนาจหน้าที่ทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าว  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ  ออกคำสั่งทางปกครอง  รวมทั้งการกระทำทางปกครองรูปแบบอื่นหรือการทำสัญญาทางปกครอง  หากเกิดกรณีพิพาทที่เป็นกรณีทางปกครอง  ก็จะต้องนำคดีพิพาทนั้นไปฟ้องต่อศาลปกครอง  เพื่อให้ศาลปกครองเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

 

ข้อ  2  จงทำตามคำสั่งต่อไปนี้

ก)      กฎหมายมหาชนเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาอย่างไร  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ข)     
จงบอกความแตกต่างระหว่างระบบศาลเดี่ยวและระบบศาลคู่ในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐมาโดยละเอียด

ธงคำตอบ

ก)     กฎหมายมหาชน  คือ  กฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจและหน้าที่แก่รัฐ  แก่หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐและแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในทางปกครองและการบริการสาธารณะ  เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่  ในฐานะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือผู้ใต้ปกครอง

กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองของรัฐในทางปกครองที่เรียกว่า  การจัดระเบียบราชการบริหาร  รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครองที่เรียกว่า  บริการสาธารณะ  ซึ่งฝ่ายปกครองจัดทำเพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า  กฎหมายปกครอง  เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองแก่หน่วยงานปกครอง  และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออกคำสั่งปกครอง  ให้อำนาจในการออกกฎ  ให้อำนาจในการกระทำทางปกครองและสัญญาทางปกครอง

หน่วยงานปกครอง  ได้แก่  หน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค  ส่วนท้องถิ่น  รัฐวิสาหกิจ  และหน่วยงานอื่นๆที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน่วยงานทางปกครอง  รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ใช้อำนาจหรือได้รับสอบให้ใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย  เช่น  สำนักงานรังวัดเอกชน  สถานที่ตรวจสภาพรถยนต์  สภาทนายความ ฯลฯ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ได้แก่  บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจในทางปกครองของรัฐ  ได้แก่  ข้าราชการ  พนักงานเจ้าหน้าที่  ลูกจ้าง  คณะบุคคล  หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง  ฯลฯ

การสมัครเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ  ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองก็จะต้องดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับของทางมหาวิทยาลัยฯ  ซึ่งระเบียบหรือข้อบังคับของทางมหาวิทยาลัยฯนั้นถือว่าเป็น  “กฎ”  ที่ทางมหาวิทยาลัยฯ  สามารถออกมาบังคับใช้กับนักศึกษาได้โดยอาศัยอำนาจตาม  พ.ร.บ.  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองและกฎหมายมหาชนนั่นเอง  และถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือกฎดังกล่าว  เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีอำนาจสั่งไม่รับบุคคลนั้นเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯก็ได้  ซึ่งคำสั่งดังกล่าวของเจ้าหน้าที่นั้นถือว่าเป็น  “คำสั่งทางปกครอง”  ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งนั้นได้ตามกฎหมายดังกล่าว

ในการเข้ารับฟังการบรรยายของท่านอาจารย์  การบรรยายของท่านอาจารย์ (การสอน) ถือว่าเป็น  “การกระทำทางปกครอง”  ประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า  “ปฏิบัติการทางปกครอง”  และการบรรยายของท่านอาจารย์ดังกล่าวก็เป็นการกระทำตามหน้าที่ที่กฎหมายคือ  พ.ร.บ.  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้กำหนดไว้  และคำสั่งของอธิการบดีที่สั่งให้อาจารย์แต่ละท่านบรรยายวิชาต่างๆนั้น  ถือว่าเป็น  “คำสั่งทางปกครอง”  ซึ่งอธิการบดีมีอำนาจออกคำสั่งได้โดยอาศัยตามกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนั้นในการสอบแต่ละวิชา  การประกาศผลสอบของมหาวิทยาลัยฯหรือเมื่อนักศึกษาได้ทำการศึกษาจนจบหลักสูตร  มหาวิทยาลัยฯออกปริญญาบัตรให้แก่นักศึกษา  การประกาศผลสอบและการออกปริญญาบัตรให้แก่นักศึกษาดังกล่าว  ก็ถือว่าเป็นการออก  “คำสั่งทางปกครอง”  ซึ่งเป็นการใช้อำนาจปกครองตามที่  พ.ร.บ.  มหาวิทยาลัยฯ  ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองและกฎหมายมหาชนได้กำหนดไว้นั่นเอง

ข)      ในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ  ในระบบศาลเดี่ยวและระบบศาลคู่  มีความแตกต่างกันดังนี้คือ

ระบบศาลเดี่ยว  หมายความว่า  ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีทั้งหลายทั้งปวง  ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง  คดีอาญา  คดีปกครอง  โดยศาลจะนำหลักกฎหมายธรรมดา  (กฎหมายเอกชน)  มาปรับแก่คดี  ไม่ว่าคดีนั้นจะเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน  หรือเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน  ทั้งนี้เนื่องมาจากในประเทศที่มีระบบศาลเดี่ยวนั้น  จะไม่มีการแยกระหว่างกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน  ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบศาลเดี่ยวคือสหรัฐอเมริกา  เป็นต้น

ระบบศาลคู่  หมายความว่า  ระบบการควบคุมฝ่ายปกครองทางศาลที่มีศาลพิเศษแยกต่างหากจากศาลยุติธรรม  กล่าวคือ  เป็นระบบการควบคุมฝ่ายปกครองที่ให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดเฉพาะคดีแพ่งและคดีอาญาเท่านั้น  ส่วนการวินิจฉัยขี้ขาดคดีปกครองนั้นให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง  ซึ่งมีระบบศาลและระบบผู้พิพากษาแยกต่างหากจากระบบศาลยุติธรรม  ตัวอย่างเช่น  ประเทศฝรั่งเศส  เบลเยียม  สวีเดน  ฟินแลนด์  ไทย  เป็นต้น

 

ข้อ  3  จงอธิบายคำศัพท์หรือกลุ่มคำต่อไปนี้  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

การรวมอำนาจและการแบ่งอำนาจ
การควบคุมบังคับบัญชา

การควบคุมกำกับดูแล

การกระจายอำนาจ

ระบบมณฑลเทศาภิบาล

ธงคำตอบ

หลักการรวมอำนาจ  คือ  หลักการปกครองที่อำนาจในการตัดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น  จะไม่มีการมอบอำนาจการตัดสินใจบางระดับบางเรื่องไปให้แก่เจ้าหน้าที่ของส่วนกลางที่ถูกส่งออกไปประจำอยู่ในภูมิภาค  และไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับ

ท้องถิ่นเลย  มีการรวมกำลังในการบังคับต่างๆ  เช่น  กำลังทหารและกำลังตำรวจให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลางทั้งสิ้น  รวมทั้งมีลำดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่  ซึ่งมีข้อดีคือ  ทำให้รัฐบาลมั่นคง  แต่มีข้อเสียคือ  เกิดความล่าช้าและขาดประสิทธิภาพในการตัดสินใจในท้องถิ่นห่างไกล  และการตัดสินใจย่อมทำได้ไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น  เนื่องจากผู้ตัดสินใจมิใช่คนของท้องถิ่นจึงไม่อาจรู้ถึงความต้องการของคนในท้องถิ่นเท่าที่ควร

หลักการแบ่งอำนาจ  คือ  หลักการที่รัฐมอบอำนาจในการตัดสินใจบางประการของรัฐในส่วนกลางให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นตัวแทนองรัฐ  แต่ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในแต่ละท้องที่การปกครอง  โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในระบบบังคับบัญชาของการปกครองส่วนกลางอยู่ตลอดเวลา  เช่น  ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ  เป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย  ศึกษาธิการจังหวัด  ป่าไม้จังหวัด  สรรพากรจังหวัด  ฯลฯ  เป็นตัวแทนของกระทรวง  ทบวง  กรมต่างๆในส่วนกลาง  เป็นต้น  โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องรับคำสั่งจากส่วนกลางเพื่อไปปฏิบัติตามแผนและนโยบายที่ส่วนกลางได้ให้ไว้  เพียงแต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจมีอำนาจตัดสินใจในบางเรื่องบางระดับโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้ามาขออนุญาต  อนุมัติจากส่วนกลางเพื่อความสะดวกเท่านั้นเอง

และในการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย  ได้นำหลักการรวมอำนาจมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางโดยแบ่งราชการออกเป็น  กระทรวง  ทบวง  กรม  ฯลฯ  และนำหลักการแบ่งอำนาจมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค  โดยแบ่งราชการออกเป็นจังหวัด  อำเภอ  รวมตลอดถึงตำบลและหมู่บ้าน  โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าในส่วนภูมิภาค

การควบคุมบังคับบัญชา  คือ  อำนาจที่หัวหน้าหน่วยงานใช้ปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  เช่น  การที่รัฐมนตีใช้อำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระทรวง  อำนาจบังคับบัญชาเป็นอำนาจที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการใดๆก็ได้ตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม  สามารถกลับ  แก้  ยกเลิก  เพิกถอนคำสั่ง  หรือ  การกระทำของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ  เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น  อย่างไรก็ตาม  การใช้อำนาจบังคับบัญชานี้ก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ใช่ว่าจะใช้ไปในทางที่เหมาะสมแต่ขัดต่อกฎหมายได้  ซึ่งการควบคุมบังคับบัญชานี้  เป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคของคนไทยนั่นเอง

การควบคุมกำกับดูแล  คือ  การควบคุมที่ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมกำกับ  จึงเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข  คือ  จะใช้ได้ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด  ในการควบคุมกำกับนั้น  องค์กรควบคุมกำกับไม่มีอำนาจสั่งการให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติตามที่ตนเห็นสมควร  องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  ดังนั้นองค์กรควบคุมจึงเป็นแต่ควบคุมกำกับให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  ซึ่งการควบคุมกำหับดูแลนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับส่วนท้องถิ่นของไทยนั่นเอง

หลักการกระจายอำนาจ  เป็นวิธีการที่รัฐมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นนอกจากองค์กรของส่วนกลาง  ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง  และสามารถดำเนินการบริการสาธารณะได้โดยอิสระ  มีงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของตนเอง  มีความเป็นอิสระในการจัดทำบริการสาธารณะที่ได้รับมอบหมาย  โดยไม่ต้องขอรับคำสั่งจากส่วนกลาง  ส่วนกลางเพียงแต่คอยกำกับดูแลให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยถูกต้องเท่านั้น  มิได้เข้าไปบังคับบัญชาหรืออำนวยการเอง

และประเทศไทยได้นำหลักการกระจายอำนาจมาใช้ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น  ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน  ได้แก่  เทศบาล  องค์การบริหารส่วนตำบล  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  กรุงเทพมหานคร  และเมืองพัทยา

ระบบมณฑลเทศาภิบาล  คือ  ระบบแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นการปกครองโดยลักษณะที่จัดให้มีหน่วยราชการบริหารอันประกอบด้วย ตำแหน่งข้าราชการต่างพระเนตพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นที่ ไว้วางใจของรัฐบาลของพระองค์  รับแบ่งภาระของรัฐบาลซึ่งประจำอยู่แต่เฉพาะในราชธานี  (ส่วนกลาง)  นั้นออกไปดำเนินการ  (ไปทำหน้าที่แทนรัฐบาลกลาง)  ในส่วนภูมิภาคของประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลจากรัฐบาลซึ่งอยู่ในราชธานีให้ได้ใกล้ชิดกับอาณาประชากร

เพื่อให้เขาได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความเจริญทั่วถึงกัน  โดยมีระเบียบแบบแผนอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ  จึงแบ่งเขตปกครองโดยขนาดลดหลั่นกันเป็นชั้นอันดับดังนี้คือ  ใหญ่ที่สุดเป็นมณฑล  รองถัดลงไปเป็นเมือง  (หรือจังหวัด)  รองไปอีกเป็นอำเภอ  ตำบล  และหมู่บ้าน  มีการจัดแบ่งหน้าที่ราชการเป็นส่วนสัดแผนกงานให้สอดคล้องกับทำนองการของกระทรวง  ทบวง  กรม  ในราชธานี  และจัดสรรข้าราชการที่มีความรู้สติปัญญา  ความประพฤติดี  ให้ไปประจำทำงานตามตำแหน่งหน้าที่  มิให้มีการก้าวก่ายสับสนกันดังที่เป็นมาแต่ก่อน  โดยมีการกำหนดข้าราชการผู้รับผิดชอบ  ดังนี้คือ

(1)    มณฑล  ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

(2)   เมือง  ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ

(3)   อำเภอ  ให้นายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ

(4)   ตำบล  ให้กำนันเป็นผู้รับผิดชอบ

(5)   หมู่บ้าน  ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบ

Advertisement